ฉนวนในท้องตลาดเมืองไทยมักจะมาในรูปแผ่นชีทม้วนใช้วางบนฝ้า และแบบพ่นหรือรีดติดกับหลังคา วัสดุที่ใช้ก็มีหลายประเภท ตั้งแต่โพลีเอทธิลีนโฟม ใยแก้ว ใยหิน เยื่อกระดาษเซลลูโลส และยางอิลาสโตเมอร์
บางท่านคิดว่าการแปะฟอยล์บางๆบนหลังคา คือการบุฉนวนแล้ว นั่นคือความเข้าใจผิดอย่างมาก หากฟอยล์สามารถกันความร้อนได้ เราคงไม่รู้สึกร้อนเวลาสัมผัสกับอาหารหุ้มฟอยล์ที่ย่างหรืออบเสร็จใหม่ๆ ในความเป็นจริงคือ ฟอยล์จะทำหน้าที่สะท้อนรังสีความร้อนออกไป แต่ฟอยล์ก็ผลิตจากโลหะซึ่งสามารถนำความร้อนได้ดีมาก ดังนั้นจะหวังพึ่งฟอยล์ตัวเดียวไม่ได้ ฟอยล์ต้องใช้ร่วมกับฉนวนชนิดอื่นซึ่งนำความร้อนได้ต่ำๆอย่าง โพลีเอทธิลีน ใยแก้ว ใยหิน โพลียูรีเทน และยางอิลาสโตเมอร์
ข้อมูลด้านล่างนี้ คือข้อดี ข้อด้อยและข้อควรระวังเมื่อเลือกใช้ฉนวนประเภทต่างๆ ที่ผู้เขียนได้รับมาจากประสบการณ์ผู้ใช้งานจริงหลายๆท่าน เพื่อให้ผู้อ่านได้พิจารณาเลือกใช้ฉนวนที่เหมาะกับความต้องการของตัวเอง
ฉนวนประเภทเส้นใย
ตัวอย่างของฉนวนประเภทนี้ก็เช่นฉนวนใยแก้วใยหินและเยื่อกระดาษส่วนที่ช่วยกันความร้อนคืออากาศที่อยู่ระหว่างเส้นใยที่พอง ฟู ฉนวนประเภทนี้ส่วนใหญ่มาเป็นแผ่นชีทเคลือบฟอยล์เพื่อป้องกันความชื้น ข้อดีคือราคาถูก และ ค่า R สูง แต่เมื่อใช้ไปซักระยะ ถึงแม้จะไม่ได้โดนน้ำฉนวนเส้นใยก็จะยุบตัวลงค่า R ก็หดลงตามความหนาที่หายไป ถ้าให้ดี เวลาซื้อจึงควรเผื่อค่า R ไว้อย่างซัก2 เท่าของที่ต้องการ
นอกจากนี้ หากฟอยล์ขาด และหลังคารั่ว น้ำฝนที่หยดลงมาจะซึมผ่านรอยขาดทะลุลงมาเปียกฉนวนและฝ้าได้ซึ่งแผ่นฟอยล์ที่เคลือบอยู่บนฉนวนที่เปียกชื้นจะทำให้น้ำระเหยออกไปได้ช้า เป็นต้นเหตุของเชื้อราและกลิ่นเหม็นจากปฏิกริยาระหว่าง binder กับน้ำ
ที่ต้องระวังอีกเรื่องหนึ่งคือละอองฝุ่นโดยเฉพาะใยแก้วและใยหิน ที่มีลักษณะแหลมคม จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังและเยื่อหุ้มปอด แต่กับสัตว์รบกวน เช่นนก และหนู ที่ชอบวัสดุนุ่มๆ ฟูๆ มากเป็นพิเศษและ สามารถออกไข่ ทำรังอยู่ในเส้นใยของฉนวนเหล่านั้น
ฉนวนประเภทโฟม
ฉนวนที่เป็นโฟม ส่วนใหญ่ทำจากพอลิเมอร์ ซึ่งยังสามารถแบ่งได้อีกหลายชนิด เช่น โพลียูรีเทนโฟม โพลีเอทธิลีนโฟม และฉนวนยางอิลาสโตเมอร์ ซึ่งแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไปแต่สิ่งที่คล้ายกันคือเป็นฉนวนเซลปิด ซึ่งเซลแต่ละเซลจะช่วยค้ำจุนกันและกัน และช่วยกันกันน้ำไว้ ดังนั้น การซึมผ่านของน้ำ และการยุบตัวของฉนวนจะถือว่าน้อยมากจนแทบไม่มีหากเทียบกับแบบเส้นใย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ความหนาสูงๆเผื่อไว้สำหรับการยุบตัวเหมือนฉนวนเส้นใย
ฉนวนโพลียูรีเทน ฉนวนชนิดนี้มีข้อดีคือมีความแข็งทำให้สัตว์รบกวนไม่ไปทำรัง ขึ้นรูปกับลอนหลังคาโดยการฉีดพ่นทำให้หลังคาเป็นปึกแผ่นแต่จุดที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษคือเวลาติดตั้ง เนื่องจากการพ่นฉนวนประเภทนี้ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าฉนวนที่พ่นได้มาตรฐานตามที่กล่าวไว้หรือไม่ เช่น ตามสเป็คเขียนไว้ว่ามีความหนาแน่น 35 Kg/cu.m. แต่เอาเข้าจริง ผู้รับงานกลับพ่นโพลียูรีเทนที่มีความหนาแน่นต่ำกว่าที่กล่าวไว้ด้านใน แล้วพ่นตัวที่มีความหนาแน่นตรงตามสเป็คเคลือบไว้ด้านนอก เพื่อลดต้นทุน ดังนั้น ต้องหาผู้ที่เชื่อใจได้จริงๆมาทำงานนี้ให้ มิเช่นนั้น อาจได้ฉนวนที่ไม่คุ้มราคามาติดแทนนอกจากนี้หากเกิดเพลิงไหม้ โพลียูรีเทนจะทำปฏิกริยาเกิดก๊าซพิษออกมา แต่ในการใช้งานทั่วไป ถือว่าเป็นฉนวนใต้หลังคาที่ดีตัวหนึ่งทีเดียว
ฉนวนโพลีเอทธิลีน ฉนวนชนิดนี้เป็นฉนวนโฟมที่รีดติดลอนหลังคาโดยใช้กาวเป็นตัวประสาน ข้อดีคือราคาถูกมากแต่ด้วยความเป็นฉนวนราคาถูก ผู้ติดตั้งจึงต้องประหยัดกาวที่ใช้รีดติดกับหลังคาเพื่อลดต้นทุน ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือเมื่อใช้ไปซักพัก ฉนวนจะค่อยๆหลุดลอกออกมาต้องเลือกยี่ห้อที่ไว้ใจได้ เพราะส่วนใหญ่เขาจะรีดมากับหลังคาตั้งแต่ในโรงงาน จึงไม่มีทางทราบได้เลยว่ากาวที่ใช้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอต่อการใช้งานระยะยาวหรือไม่ ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้น หากเป็นการใช้งานปกติ ถือว่าเป็นฉนวนปลอดภัย แต่จุดที่อันตรายคือในกรณีเกิดเพลิงไหม้ หากสารกันไฟที่ใส่ไว้มีไม่เพียงพอ โพลีเอทธิลีนจะหลอมละลายกลายเป็นหยดไฟ
ฉนวนยางอิลาสโตเมอร์ ฉนวนชนิดนี้เริ่มมีให้เห็นบ้างในวงการฉนวนใต้หลังคา แต่จริงๆมีการใช้งานมาหลายสิบปีแล้วในงานปรับอากาศ เตาปฏิกรณ์ เรือดำน้ำ และงานวิศวกรรมอื่นๆ ที่ต้องการข้อดีในเรื่องความสม่ำเสมอของค่า K และ ค่า R รวมถึงความปลอดภัยในหลายๆด้าน เนื่องจากไม่เกิดฝุ่นละออง และสารระเหย ไม่ลามไฟ มักเคลือบฟอยล์เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนจากการติดตั้งฉนวนชนิดนี้ใช้ปูวางบนฝ้าได้เลย จึงใช้ได้ทั้งบ้านที่กำลังสร้าง และบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ข้อเสียคือยังหาซื้อได้ยากกว่าแบบอื่นๆ และราคาอาจแพงกว่าฉนวนราคาถูกที่ขายตามท้องตลาด แต่ถ้าคำนึงถึงความประหยัดในระยะยาวแล้ว ถือว่าคุ้มค่าทีเดียว
จะเห็นได้ว่าฉนวนมีให้เลือกมากมายหลากหลายประเภท ซึ่งจริงๆแล้วยังมีอีกมากที่ไม่ได้กล่าวถึงฉนวนแต่ละประเภทก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกันไป ผู้ใช้ควรหาข้อมูลจากหลายๆบริษัทเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ของฉนวนประเภทต่างๆ เพื่อเลือกใช้ให้ตรงตามความต้องการ และไม่เกิดปัญหาในระยาว.